Cute Rocket

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บันทึกครั้งที่ 1


บันทึกครั้งที่ 1 

จันทร์ ที่ 17 มิถุนายน 2556





               วันนี้เป็นวันแรกของการเรียน  วิชาการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย  ( Science Experiences Management for Early Childhood ) คุณครูก็ได้แนะนำเกี่ยวกับแนวการสอนของวิชานี้ ซึ่งครูก็ได้ให้นักศึกษาเขียนว่า  นักศึกษาคาดว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้างในรายวิชานี้  โดยให้เวลาเขียนสิบนาที จากนั้นเราก็เริ่มทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา แล้วครูก็ได้ถามว่า วิทยาศาสตร์ ในนิยามของนักศึกษาคืออะไรหรือนักศึกษาจะถึงถึงสิ่งใด โดยให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งเพื่อนๆแต่ละคนก็ให้ความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น วิทยาศาสตร์คือสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต/ กระบวนการ/ความรู้/ทฤษฎี/การทดลอง นอกจากจะปวดหัวกับคำถามที่ไม่น่าปวดหัว เราก็ได้มาเจอคำถามอีกคำถาม คือคำว่า "พัฒนาการ" (เด็กปฐมวัย) คืออะไร เป็นการทบทวนความรู้เดิม ที่เราเองก็แทบจะนิยามมันออกมาไม่ได้ แต่แล้วก็รอด มาดูความหมายของคำนี้กัน

                 พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของช่วงอายุ ที่มีลำดับขั้นตอน และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งพัฒนาการคือสิ่งที่จะบอกว่า เด็กที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆ มีความสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างนั่นเอง

                  ทักษะที่ได้รับจากการเรียนในวันนี้คือ ทำให้รู้จักที่จะคิด กล้าแสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้อิ่น


ความรู้เพิ่มเติม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักสูตร



             หลักสูตรเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ปรัชญาหรือความมุ่งหมายทางการศึกษาบรรลุความมุ่งหมายเพราะหลักสูตรเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ อีกทั้งเป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมในอันที่จะนำประเทศไปสู่ความเจริญในทุกๆด้าน


                    ความหมายของหลักสูตร

               คำว่า “หลักสูตร หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ Curriculum ” ได้มีนักวิชาการทางการศึกษาได้ให้คำนิยามหรือความหมายของหลักสูตรไว้หลายทัศนะดังนี้

                    ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 1272) กล่าวว่า หลักสูตร หมายถึงประมวลวิชาและกิจกรรมต่างๆที่กำหนดไว้ในสถานศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

                    ส่วน เกล็น  แฮนส์ (Glen Hass, 1980 อ้างถึงใน ธำรง บัวศรี, 2542 : 4)กล่าวว่า หลักสูตรหมายถึงมวลประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากโปรแกรมการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยอาศัยกรอบของทฤษฎีและการวิจัยในอดีตและปัจจุบันเป็นพื้นฐาน

                    สำหรับ ธำรง บัวศรี (2542 : 7) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดหมายการจัดเนื้อหา กิจกรรมและมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้

                    นอกจากนั้น ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์ (2543 : 25) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรไว้  3 ประการคือ

                    1. หลักสูตรเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎี หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งหมายไว้

                    2. หลักสูตรเป็นระบบในการจัดการศึกษาโดยมีปัจจัยนำเข้า(Input) ได้แก่ครูนักเรียน วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ กระบวนการ(Process)ผลผลิต(Output)ได้แก่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความสำเร็จทางการศึกษา เป็นต้น

                    3. หลักสูตรเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มุ่งประสงค์จะอบรมฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

                    บ๊อบบิท (Bobbitt, 1981 อ้างถึงในบรรพต สุวรรณประเสริฐ, 2544 : 14)กล่าวว่า หลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆซึ่งผู้เรียนและเยาวชนจะต้องทำและประสบโดยการพัฒนาความสามารถเพื่อจะทำสิ่งต่างๆให้ดีและเหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่

                    ธีระ  รุญเจริญ (2550 : 280 ) ได้ให้จำกัดความของคำว่าหลักสูตรดังนี้

                    1. หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้นักเรียนโดยการควบคุมแนะนำของสถานศึกษาอันเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ หรือความคาดหวังทางการศึกษาที่ตั้งไว้

                    2. หลักสูตร เป็นสื่อในการสอนที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

                   

                    ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ (2551 : 47 ) ได้กล่าวสรุปว่า หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระสำคัญและกิจกรรมต่างๆ ที่สนองวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่พึงประสงค์
                    จากความหมายของหลักสูตร ตามทัศนะของนักวิชาการทางการศึกษา สรุปได้ว่าหลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ ที่เป็นเนื้อหา สาระสำคัญ กิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

แหล่งที่มา: http://www.kroobannok.com/blog/39838







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น